แบตเตอรี่รถไฟฟ้า หรือถังเก็บพลังงานที่ขับเคลื่อนให้รถเคลื่อนที่ เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยปัจจุบันนี้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สมรรถนะ และระยะทางวิ่งของรถ EV ดีขึ้นเรื่อย ๆ
บทความนี้จึงอยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ใช้ในปัจจุบันว่ามีกี่ประเภท แต่ละรุ่นราคาเป็นอย่างไร รวมถึงจะมีวิธียืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่อย่างไรบ้าง
แบตเตอรี่รถไฟฟ้า มีกี่ประเภท ?
สำหรับคนที่สงสัยว่าแบตรถไฟฟ้ามีกี่แบบ เรารวบรวมมาให้แล้ว ดังนี้
1. แบตเตอรี่ชนิดตะกั่วกรด (Lead Acid Battery)
แบตเตอรี่ชนิดนี้เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ใช้ในรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป ราคาไม่แพงและปลอดภัย สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้สูง แต่มีข้อจำกัดคืออายุการใช้งานสั้นและประสิทธิภาพลดลงในสภาวะอุณหภูมิต่ำ มักถูกใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองเท่านั้น เนื่องจากไม่เหมาะสำหรับเป็นแหล่งพลังงานหลัก
2. แบตเตอรี่ชนิดนิกเกิล-เมทัลไฮไดรด์ (Nickel-metal Hydride Battery / Ni-MH)
นิยมใช้ในรถยนต์ไฮบริด มีอายุการใช้งานยาวนานและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ดี อย่างไรก็ตาม มีข้อเสียคือราคาผลิตค่อนข้างสูง เก็บพลังงานได้น้อยกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน และมีอัตราการคายประจุสูงแม้ไม่ได้ใช้งาน
3. แบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน (Lithium Ion Battery / Li-ion)
เป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบันสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากสามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มาก มีอายุการใช้งานยาวนาน ชาร์จได้เร็ว และจ่ายไฟได้อย่างเสถียร นอกจากนี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ แต่มีข้อเสียคือต้นทุนการผลิตสูง และประสิทธิภาพอาจลดลงในสภาวะอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินไป
4. แบตเตอรี่โซเดียม-ไอออน (Sodium-ion battery)
เป็นเทคโนโลยีแบตเตอรี่ใหม่ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ชาร์จได้เร็ว และทนทานต่อสภาพอุณหภูมิสูงหรือต่ำได้ดี อย่างไรก็ตาม มีความหนาแน่นของพลังงานต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้มีระยะทางวิ่งที่สั้นกว่า จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในระยะทางใกล้ ๆ เท่านั้น
ค่าแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่น ราคาเท่าไร ?
1. MG 4 Electric
- ราคาแบตเตอรี่ : 525,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- เป็นแบตเตอรี่แบบ cell2pack (CTP)
2. MG EP
- ราคาแบตเตอรี่ : 450,000 บาท
- เป็นแบตเตอรี่แบบโมดูล ประกอบด้วย 6 โมดูล
- ราคาต่อโมดูล : 75,000 บาท
- สามารถเปลี่ยนเฉพาะโมดูลที่เสียได้
3. BYD DOLPHIN
- ราคาแบตเตอรี่
- รุ่น Standard Range (410 กม.) : 309,364.49 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- รุ่น Extended Range (480 กม.) : 378,102.80 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
4. ORA GOOD CAT
- ราคาแบตเตอรี่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
- รุ่น 400 กม. : 445,000 บาท
- รุ่น 500 กม. : 580,000 บาท
แบตรถไฟฟ้า EV ใช้ได้กี่ปี ?
โดยทั่วไปแล้ว แบตรถไฟฟ้า EV จะมีอายุการใช้งานประมาณ 10-20 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศและความถี่ในการชาร์จ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยส่วนใหญ่รับประกันแบตเตอรี่อย่างน้อย 8 ปี หรือระยะทางประมาณ 150,000-180,000 กิโลเมตร บางรายอาจให้การรับประกันนานถึง 10 ปี หรือ 250,000 กิโลเมตร
ปัจจัยที่ทำให้แบตเตอรี่รถไฟฟ้าเสื่อมสภาพ
1. อุณหภูมิ (Temperature)
แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนทำงานได้ดีที่สุดช่วงอุณหภูมิ 20-60°C อุณหภูมิที่สูงเกินไปจะเร่งการเสื่อมสภาพของแบตเตอรี่
2. รอบการใช้งาน หรือรอบการชาร์จ (Cycle time)
หนึ่งรอบการชาร์จคือการชาร์จแบตเตอรี่จาก 0% ถึง 100% ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนในรถยนต์ไฟฟ้า โดยทั่วไปจะสามารถทนการชาร์จได้ประมาณ 3,000 รอบขึ้นไป ซึ่งแปลเป็นอายุการใช้งานประมาณ 10-20 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้งานและการดูแลรักษา
3. แบตเตอรี่รถไฟฟ้าเสื่อม อาการเป็นอย่างไร ?
- ระยะทางการขับขี่ลดลง : แม้ชาร์จจนเต็ม 100% แต่รถวิ่งได้ระยะทางสั้นลงกว่าเดิม เนื่องจากความสามารถในการเก็บประจุของแบตเตอรี่ลดลง
- เวลาชาร์จนานขึ้น : แบตเตอรี่ใช้เวลาชาร์จนานกว่าปกติเพื่อเติมพลังงานให้เต็ม
- ชาร์จเต็มเร็วผิดปกติ : หากแบตเตอรี่ชาร์จเต็มเร็วกว่าปกติมาก อาจบ่งชี้ว่าความจุไฟฟ้าของแบตเตอรี่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
- ประสิทธิภาพรถลดลง : รถอาจมีกำลังน้อยลง เร่งไม่ค่อยขึ้น หรือทำความเร็วได้ไม่เท่าเดิม เป็นผลจากแบตเตอรี่ที่ไม่สามารถจ่ายพลังงานได้เต็มประสิทธิภาพ
วิธียืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่รถไฟฟ้า
- รักษาระดับการชาร์จที่เหมาะสม : ควรรักษาระดับแบตเตอรี่ให้อยู่ระหว่าง 20-80% เพื่อลดความเครียดของแบตเตอรี่ หลีกเลี่ยงการชาร์จเต็ม 100% หรือปล่อยให้ต่ำกว่า 20% บ่อยครั้ง
- จัดการอุณหภูมิ : หลีกเลี่ยงการจอดรถกลางแดดจัดหรือในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเป็นเวลานาน เนื่องจากจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น และระบบจัดการความร้อนของรถจะทำงานหนักขึ้น
- ใช้การชาร์จแบบ DC อย่างเหมาะสม : แม้การชาร์จแบบ DC จะรวดเร็ว แต่ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป เนื่องจากการอัดประจุไฟฟ้าปริมาณมากในเวลาสั้นทำให้เกิดความร้อนสูง ซึ่งส่งผลเสียต่อแบตเตอรี่ในระยะยาว ควรสลับใช้การชาร์จแบบ AC เพื่อถนอมแบตเตอรี่
แบตเตอรี่รถไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ ดังนั้น เจ้าของรถยนต์ EV ทุกคนควรทำความเข้าใจประเภท การดูแลรักษา และวิธีการยืดอายุการใช้งานเพื่อให้สามารถใช้งานแบตเตอรี่ได้คุ้มค่าและยาวนานที่สุด
สำหรับผู้ใช้รถ EV ที่มองหาบริการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า พิธาน กรีน ยินดีให้คำปรึกษา ด้วยบริการที่ครบวงจร ตั้งแต่การจำหน่ายและติดตั้ง ทั้งเครื่องชาร์จ AC Charger และ DC Charger พร้อม PLUX Application ที่เหมาะกับการลงทุนในสถานีชาร์จ สถานประกอบการประเภทต่าง ๆ โซลูชั่นที่รองรับการชำระเงิน เรามีช่างผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำแนะนำ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ phithangreen
ข้อมูลอ้างอิง
- อยากซื้อรถ EV ต้องเข้าใจ “แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า” กันก่อน. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567. จาก https://www.laminafilms.com/th/article/EV-car-battery
- แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ใช้ได้กี่ปี พร้อมวิธียืดอายุการใช้งาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567. จาก https://car.kapook.com/view272810.html